ดาราศาสตร์และอวกาศ

โครงการอบรมครู เรื่อง ดาราศาสตร์และอวกาศ

ตามที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ในการดำเนินโครงการความร่วมมือในการเผยแพร่และฝึกอบรมเพื่อการศึกษาดาราศาสตร์ภาคเหนือ ม.ช.- สสวท. ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาให้หอดูดาวแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมครูและนักเรียนทางดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นแหล่งบริการความรู้ทางด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชนและผู้สนใจทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่สามารถเข้ามาหาความรู้ได้ตลอดชีวิต โดยได้ร่วมกันจัดตั้งเป็น “ศูนย์ศึกษาดาราศาสตร์ภาคเหนือ”

ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีโครงการความร่วมมือกับ สสวท. ในการพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนทางดาราศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอนสาระช่วงชั้นวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สาระที่ 7 เรื่อง โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ โดยการร่วมจัดทำสาระการเรียนรู้และการจัดฝึกอบรมครูและนักเรียนทางดาราศาสตร์ ตลอดจนการจัดทำโครงการเครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถาบันอุดมศึกษา ครูและนักเรียนสามารถมีแหล่งความรู้ทางดาราศาสตร์ที่เพียงพอสำหรับการค้นคว้าหาความรู้และสร้างสาระการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ด้วยตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาครูและนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อมูลจากหอดูดาว ม.ราชภัฎเชียงราย ข้อมูลเพิ่มเติม

NASA

ความเป็นมา

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration – NASA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ตามพระราชบัญญัติการบินและอวกาศแห่งชาติ เป็นหน่วยงานส่วนราชการ รับผิดชอบในโครงการอวกาศและงานวิจัยห้วงอากาศอวกาศ (aerospace) ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา คอยจัดการหรือควบคุมระบบงานวิจัยทั้งกับฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 องค์การนาซาได้ประกาศภารกิจหลักคือ การบุกเบิกอนาคตแห่งการสำรวจอวกาศ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยทางการบินและอวกาศ

การแข่งขันในการสำรวจอวกาศ

หลังจากสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก (ดาวเทียมสปุตนิค 1) ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) สหรัฐฯ เริ่มหันมาใส่ใจกับโครงการอวกาศของตนเองมากขึ้น สภาคองเกรสรู้สึกหวั่นเกรงต่อภัยด้านความมั่นคงและภาวะความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของตน ประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และคณะที่ปรึกษาได้ประชุมหารือกันเป็นเวลานานหลายเดือนจนได้ข้อสรุปว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องก่อตั้งหน่วยงานราชการขึ้นใหม่ ให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมอวกาศทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ลงนามในกฎหมายการบินและอวกาศแห่งชาติ ค.ศ. 1958 เพื่อก่อตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ขณะนั้นนาซาประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 4 แห่ง มีพนักงานประมาณ 8,000 คน ที่โอนมาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการบินแห่งชาติ (NACA) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐที่มีอายุกว่า 46 ปี
โครงการในระยะแรกของนาซาเป็นการวิจัยโดยมีเป้าหมายส่งมนุษย์ขึ้นไปกับยานอวกาศ ดำเนินไปพร้อมแรงกดดันจากการแข่งขันกับสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น นาซาเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศด้วยโครงการเมอร์คิวรีในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) นักบินอวกาศ อลัน บี. เชเพิร์ด จูเนียร์ กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกในอวกาศ เมื่อเขาเดินทางไปกับยานฟรีดอม 7 ในภารกิจนาน 15 นาที แบบไม่เต็มวงโคจร หลังจากนั้นจอห์น เกล็นน์ กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่โคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ในการขึ้นบินนาน 5 ชั่วโมงกับ ยานเฟรนด์ชิป 7

โครงการอะพอลโล

เมื่อโครงการเมอร์คิวรีพิสูจน์และยืนยันว่า การส่งมนุษย์ขึ้นไปโคจรในอวกาศสามารถเป็นไปได้ นาซาจึงเริ่มโครงการอะพอลโล โดยเป็นความพยายามส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดยยังไม่มีเป้าหมายส่งมนุษย์เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์แต่อย่างใด ทิศทางของโครงการอะพอลโลเปลี่ยนไปเมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ว่าสหรัฐอเมริกาจะ “ส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์แล้วกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย” ภายในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) โครงการอะพอลโลจึงกลายเป็นโครงการนำมนุษย์ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โครงการเจมินีเริ่มต้นขึ้นไม่นานหลังจากนั้น เพื่อทดสอบและยืนยันเทคนิค ที่จำเป็นต้องใช้กับโครงการอะพอลโลที่ซับซ้อนขึ้น

หลังจาก 8 ปีของภารกิจเบื้องต้น ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่คร่าชีวิตนักบินอวกาศ 3 คนในยานอะพอลโล 1 โครงการอะพอลโลบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุดเมื่อยานอะพอลโล 11 นำนีล เอ อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน ลงสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512(ค.ศ. 1969) และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม ถ้อยคำแรกที่อาร์มสตรองกล่าวหลังจากก้าวออกจากยานลงจอดอีเกิ้ล คือ “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของคน ๆ หนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” หลังจากวันนั้นจนถึงการสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 มีนักบินอวกาศอีก 10 คนที่ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์

แม้ว่าองค์การนาซาจะทำให้สหรัฐฯ ได้ชัยชนะในการแข่งขันกับโซเวียต แต่ความสนใจของชาวอเมริกันที่มีต่อโครงการอวกาศ อันจะทำให้สภาคองเกรสทุ่มงบประมาณให้กับนาซา กลับลดน้อยถอยลง นาซาสูญเสียผู้สนับสนุนในสภาหลังจากลินดอน บี. จอห์สัน ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้ที่มีบทบาทในการวิ่งเต้นเพื่อผลักดันงบประมาณให้กับนาซาในเวลาต่อมา คือ เวร์เนอร์ ฟอน บรอน วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดชาวเยอรมัน เขาเสนอแผนสร้างสถานีอวกาศ ฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์ และโครงการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารภายในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990)

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีจรวดขณะนั้นยังไม่ดีพอ อุบัติเหตุการระเบิดของถังออกซิเจนที่เกือบจะเป็นโศกนาฏกรรมกับนักบินบนยานอะพอลโล 13 ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาสนใจในโครงการอวกาศ อย่างไรก็ตาม ยานอะพอลโล 17 เป็นยานลำสุดท้ายที่ขึ้นบินภายใต้สัญลักษณ์อะพอลโล แม้ว่าโครงการอะพอลโลมีแผนไปถึงยานอะพอลโล 20 โครงการอะพอลโลสิ้นสุดลงก่อนกำหนดเนื่องจากถูกตัดงบประมาณ (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามเวียดนาม) และนาซาปรารถนาที่จะพัฒนายานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

อะพอลโล-โซยุส

โครงการทดสอบอะพอลโล-โซยุส (Apollo-Soyuz Test Project:ASTP) เป็นการร่วมมือกันระหว่างสหัฐอเมริกาและโครงการอวกาศของโซเวียตในการนำยานอะพอลโลและยานโซยุสมาพบกันในอวกาศ(เชื่อมยานกัน) ในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975)

ยุคกระสวยอวกาศ

กระสวยอวกาศเป็นโครงการที่นาซาหันมาให้ความสนใจมาตลอดตั้งแต่ช่วงปี 2513 (1970) และ 2523 (1980) กระสวยอวกาศลำแรกที่ปล่อยใช้งานสู่อวกาศคือกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) สำหรับนาซาแล้วกระสวยไม่ได้ดีไปหมดทุกอย่าง ยิ่งช่วงเริ่มต้นโครงการมันมีความสิ้นเปลืองมาก และในปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) กับเหตุการณ์อุบัติเหตุของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดสำหรับการบินอวกาศ

บุคลากรในองค์การนาซา

โจเซฟ คิททินเจอร์

โจเซฟ คิททินเจอร์ (Joseph Kittinger) หรือ โจ คิทเทนเจอร์ (Joe Kittenger) มีชื่อเต็มว่า โจเซฟ วิลเลี่ยม คิททินเจอร์ 2 (Joseph William Kittinger II) เป็นชาวอเมริกัน เกิดในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 (อายุ 80 ปี) เป็นนักบิน และเป็นผู้ทดสอบทดลองขับ เครื่องบินรุ่นต่างๆ ในกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการทดสอบการบินในองค์การ นาซา ด้วย

ชอน โอคีฟ

ชอน โอคีฟ (Sean O’Keefe) เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1956 เคยเป็นผู้อำนวยการองค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2001 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2005 ตลอดช่วงการบริหารของเขามีเรื่องราวเกิดขึ้นกับนาซามากมายทั้งดีมากและร้ายมาก ตั้งแต่ความสำเร็จในการส่งยานลงสำรวจดาวอังคาร ไปจนถึงโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย

21 กุมภาพันธ์ 2005 หลังจากลาออกจากนาซาแล้ว โอคีฟได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา และลาออกเมื่อ 16 มกราคม 2008 ดาวเคราะห์น้อย 78905 ชอนโอคีฟ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาสำหรับผลงานการปฏิบัติหน้าที่ที่องค์การนาซา

นีล แอลเดน อาร์มสตรอง

นีล แอลเดน อาร์มสตรอง (อังกฤษ: Neil Alden Armstrong) เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน และเป็นมนุษย์คนแรกที่ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์

อาร์มสตรองเกิดที่มลรัฐโอไฮโอ จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และเป็นนักบินทดสอบให้กับองค์การนาซามาก่อน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และปฏิบัติภารกิจหลายภารกิจในโครงการเจมินีและโครงการอะพอลโล

พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์ โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ เขากล่าวประโยคนี้เมื่อเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ “That’s one small step for (a) man, one giant leap for mankind.” (นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ)

ไมเคิล ดักลาส กริฟฟิน

ไมเคิล ดักลาส กริฟฟิน (อังกฤษ: Michael Douglas Griffin) เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 เป็นนักฟิสิกส์และวิศวกรการบินชาวอเมริกัน เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารขององค์การนาซาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2005 โดยที่ก่อนหน้านั้นเขาเป็นหัวหน้าภาควิชาอวกาศศึกษาที่ห้องทดลองฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ดร.กริฟฟินมีบทบาทต่องานขององค์การสำรวจอวกาศสหรัฐอเมริกาอย่างสูง และเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทต่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลอย่างมาก ดร.กริฟฟินเป็นหนึ่งใน 100 อันดับแรกบุคคลผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดในโลกของนิตยสารไทมส์เมื่อปี ค.ศ. 2007

คัดลอกจาก http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=618
ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลนี้ครับ