ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 16 มิถุนายน 2554

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 16 มิถุนายน 2554

จันทรุปราคาเต็มดวง
จันทรุปราคาเต็มดวง

 

รูปที่ 1 ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

(http://www.fishingfury.com/20101220/look-up-rare-total-lunar-eclipse-tonight/)

 

ในคืนวันที่ 15 ถึงเช้ามืดของวันที่ 16 มิถุนายน 2554 นับเป็นครั้งแรกของปี ที่จะได้เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามืดเวลา 01:22:37 น. และดวงจันทร์เข้าสู่ช่วงคลาสเต็มดวงตั้งแต่เวลา 02:22:11 น. ถึง 04:03:22 น. ซึ่งเราจะได้เห็นดวงจันทร์สีแดงอิฐอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ สูงจากเส้นขอบฟ้าประมาณ 30 องศา (สังเกตการณ์จากจังหวัดเชียงใหม่) นอกจากนี้หากท้องฟ้าดี ไม่มีเมฆมากนัก ประกอบกับตำแหน่งที่สังเกตการณ์อยู่ห่างจากตัวเมือง และไม่มีแสงไฟรบกวน ก็จะมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกในคืนวันเพ็ญขณะที่ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังทั้งดวง

จันทรุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลาเต็มดวงยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 40 นาที 52 วินาที จันทรุปราคาเต็มดวงที่เคยเกิดขึ้นนานที่สุดคือวันที่ 16 กรกฎาคม2543 ซึ่งยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 47 นาที 00 วินาที และหลังจากปี 2554 จันทรุปราคาเต็มดวงที่มีระยะเวลามืดเต็มดวงนานเกิน 100 นาที จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งสามารถเห็นได้ในประเทศไทยอีกเช่นกัน

 

รูปที่ 2 แผนที่แสดงการเกิดจันทรุปราคาในบริเวณต่าง ๆ

 

บริเวณที่สามารถสังเกตุปรากฏการณ์นี้ได้ตลอดช่วงการเกิดปรากฏการณ์ได้แก่ ทวีปแอฟริกา และ ทวีปเอชียกลาง ส่วนทางทวีปอเมริกาใต้ และทวีปยุโรป จะเห็นปรากฏการณ์นี้ในขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในทิศตะวันออก และสุดท้ายทวีปเอเชียใต้  ประเทศออสเตรเลีย และประเทศฟิลิปปินส์ สามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ในขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในทิศตะวันตก จะสามารถสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้เฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น

 

รูปที่ 3 แสดงขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา

 

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา วันที่ 16 มิถุนายน 2554 (โดยดวงจันทร์จะโคจรผ่านเงาของโลกจากขวาไปซ้าย ตามรูปที่ 2)

 

 

ขั้นตอนการเกิดปรากฏการณ์

 

 

เวลา

P1 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 00:23:05 น.
U1 เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 01:22:37 น.
U2 เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 02:22:11 น.
Greatest กลางคลาส 03:12:37 น.
U3 สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 04:03:22 น.
U4 สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 05:02:35 น.
P4 ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 06:02:15 น.

 

 

จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาครั้งที่ 34 ใน 71 ครั้ง ของชุดซารอสที่ 130 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1959 – 3221 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยจันทรุปราคาเงามัว 8 ครั้ง บางส่วน 20 ครั้ง เต็มดวง 14 ครั้ง บางส่วน 22 ครั้ง และเงามัว 7 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2572 นาน 1 ชั่วโมง 42 นาที (นานกว่าครั้งที่เกิดในปีนี้เพียงไม่ถึง 3 นาที)

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

• June 2011 lunar eclipse from wikipedia, the free encyclopedia: http://en.wikipedia.org/wiki/June_2011_lunar_eclipse; เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 22-03-2011

• July 2000 lunar eclipse from wikipedia, the free encyclopedia: http://en.wikipedia.org/wiki/July_2000_lunar_eclipse; เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 22-03-2011

• Lunar Eclipse Date and Time: http://www.scribd.com/doc/11561968/Lunar-Eclipse-Dates-and-Times; เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 22-03-2011

• December 2011 lunar eclipse: http://en.wikipedia.org/wiki/December_2011_lunar_eclipse; เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 22-03-2011

• Total Lunar Eclipse, 15th June/16th June 2011: http://www.iceinspace.com.au/63-618-0-0-1-0.html; เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 22-03-2011

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย

นายชนากานต์ สันติคุณาภรณ์

เจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์

สำนักบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

คัดลอกจาก : http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=191:-lunar-eclipse-06-2011&catid=1:astronomy-news&Itemid=4