Category: ข่าวดาราศาสตร์

19 มี.ค.ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องการโคจรของดวงจันทร์ ระบุว่าในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลก หรือที่เรียกว่า “lunar perigee” เพียง 221,567 ไมล์ นับเป็นการโคจรที่ใกล้โลกมาที่สุดในรอบ 18ปี ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบกับโลกเช่น แผ่นดินไหว การปะทุของภูเขาไฟ และระดับน้ำทะเลที่อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิได้ บรรยากาศโลกจะเปลี่ยน โดยพวกเขาเรียกมันว่า “ซุปเปอร์มูน” ก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในปี 1955, 1974, 1992, และ 2005 และทุกครั้งที่มันเกิด จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศบนโลก เช่น การเกิดสึนามิ ที่คร่าชีวิตถึงไปหลายแสนคนในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย  เพียงสองสัปดาห์ก่อนเกิดซุปเปอร์มูนในเดือน มกราคมปี 2005 สองสัปดาห์ก่อนเกิดซุปเปอร์มูนในเดือน มกราคมปี 2005 เกิดสึนามิในเมืองอาเจะ ประเทศอินโดนีเซีย นักวิทยาศาสตร์บางส่วนกล่าวว่า มันได้ได้มีความเกี่ยวโยงกัน แต่อาจจะเกิดเพียงแค่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดเท่านั้น ข่าวโดย : Mthai news

วัตถุไคเปอร์บังดาวฤกษ์ เผยพื้นผิวขาวผิดปกติ

23 มิ.ย. 2553 รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย () คณะนักดาราศาสตร์จากหลายประเทศได้ร่วมสำรวจวัตถุไคเปอร์ชื่อ 55636 ด้วยวิธีใหม่ และได้พบว่าวัตถุดวงนี้สว่างกว่าวัตถุไคเปอร์ทั่วไป 55636 เดิมชื่อ 2002 TX300 โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยรัศมีวงโคจร 48 หน่วยดาราศาสตร์ วัตถุไคเปอร์ เป็นวัตถุในระบบสุริยะ คล้ายดาวพลูโต โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ในแถบไคเปอร์ ซึ่งอยู่ไกลพ้นวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป การสำรวจครั้งนี้ใช้เทคนิคใหม่ นั่นคือใช้วิธีสังเกตการบังดาวฤกษ์ จากเส้นทางโคจรของวัตถุไคเปอร์ที่ทราบอยู่ก่อนแล้ว ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ล่วงหน้าว่าวัตถุดวงนี้จะบังดาวฤกษ์ที่อยู่ฉากหลังดวงใด ณ วันเวลาใด จึงเตรียมการได้ตั้งแต่ล่วงหน้า 55636 บังดาวฤกษ์ฉากหลังไปเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที แม้เวลาจะสั้นมาก แต่ก็ทำให้นักดาราศาสตร์คำนวณหาขนาดและอัตราสะท้อนแสงของวัตถุนี้ได้ และค่าทั้งสองค่าที่ได้มาก็ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องประหลาดใจ 55636 มีขนาดเล็กกว่าที่เคยคิดไว้มาก ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 300 กิโลเมตร นั่นก็ย่อมแปลว่าพื้นผิวของวัตถุดวงนี้สะท้อนแสงได้ดีกว่าที่เคยคิดไว้ด้วย และตัวเลขที่ได้แสดงว่าวัตถุดวงนี้ขาวจนเชื่อว่าพื้นผิวปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง วัตถุไคเปอร์ส่วนใหญ่มีสีคล้ำ ซึ่งเป็นผลจากการถูกอาบรังสีคอสมิกสะสมมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการที่ 55636 มีความสว่างมากแสดงว่ามีกระบวนการสร้างพื้นผิวใหม่อยู่ หรือไม่ก็ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่คงอยู่ได้ในบริเวณขอบนอกระบบสุริยะได้นานนับพันล้านปี วัตถุหลายดวงในระบบสุริยะก็มีพื้นผิวสว่างเหมือนกัน เช่นพลูโต เอเซลาดัส พื้นผิวของวัตถุเหล่านี้ขาวโพลนไปด้วยละอองน้ำแข็งที่ควบแน่นมาจากน้ำในบรรยากาศที่พ่นขึ้นมาจากพุน้ำแข็ง กระบวนการนี้คล้ายการปะทุของภูเขาไฟ ต่างตรงที่สิ่งที่พ่นออกมาคือน้ำแทนที่จะเป็นลาวา แต่ 55636 มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทำให้เกิดกระบวนการนี้ได้ ก่อนหน้านี้ในปี 2552 เคยมีการพบวัตถุไคเปอร์จากการสังเกตการบังดาวมาก่อนแล้ว แต่ในครั้งนั้นเป็นการสำรวจโดยการค้นหาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลย้อนหลัง ซึ่งในครั้งนั้นก็พบวัตถุไคเปอร์มีขนาดเล็กมากเพียง 975 เมตร และอยู่ห่างออกไปถึง 6,700 ล้านกิโลเมตร แต่ครั้งนี้เป็นการสำรวจการบังดาวที่มีการคำนวณวันเวลาการบังไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกของการสำรวจแบบนี้ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า 55636 เป็นชิ้นส่วนที่หลุดออกมาจากการชนกันระหว่างดาวเคราะห์แคระชื่อ เฮาเมอา (Haumea) กับวัตถุดวงอื่นเมื่อราวหนึ่งพันล้านปีก่อน ที่มา: Occultation Reveals Distant Kuiper Belt Object is Surprisingly Icy Bright – universetoday.com http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=43 – สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบพายุบนดาวเคราะห์ระบบสุริยะอื่นเป็นครั้งแรก

รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย ()           หากในอนาคตจะมีทัวร์อวกาศพาลูกทัวร์ไปท่องเที่ยวตามดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นแล้ว ดาวเคราะห์ชื่อ เอชดี 209458 บี (HD209458b) คงไม่อยู่ในรายการเป้าหมายเป็นแน่ ไม่เพียงแต่เพราะเหตุที่ดาวเคราะห์นี้ร้อนจัดและมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแก๊สคาร์บอนมอนอกไซค์ที่เป็นพิษแล้ว แต่นักดาราศาสตร์เพิ่งพบว่าบนดาวเคราะห์ดวงนี้มีพายุที่พัดโหมอย่างบ้าคลั่งถึง 5,000-10,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง            ดาวเอชดี 209458 บี มีชื่อสามัญเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า โอซิริส (Osiris) มีมวลประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของดาวพฤหัสบดี เป็นบริวารของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ที่มีมวล 1.1 เท่าของดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะนี้อยู่ห่างจากโลกไป 150 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวม้าบิน           ดาวเคราะห์ดวงนี้มีวงโคจรเล็กเพียงหนึ่งในยี่สิบของวงโคจรโลกเท่านั้น ระยะที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากเช่นนี้ทำให้ดาวถูกความร้อนจากดาวฤกษ์แผดเผาจนด้านกลางวันมีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ดาวเคราะห์ดวงนี้ยังหันด้านเดียวเข้าสู่ดาวฤกษ์อีกด้วย ทำนองเดียวกับดวงจันทร์ที่หันด้านเดียวเข้าหาโลกตลอดเวลา ด้วยเหตนี้ เอชดี 209458 บี จึงกลายเป็นดินแดนแห่งความโหดสุดขั้วที่มีด้านหนึ่งร้อนจัดและอีกด้านหนึ่งเย็นกว่าอย่างมาก           ลมบนโลกเกิดขึ้นจากความแตกต่างของอุณหภูมิในบริเวณต่างกัน กระบวนการเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นบน เอชดี 209458 บี เช่นกัน แต่มีระดับความรุนแรงกว่าอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้            คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยอวกาศของมหาวิทยาลัยไลเดนและเอ็มไอทีในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้สเปกโทรกราฟ ไครเรส (CRIRES) บนกล้องวีแอลทีสำรวจระบบดาวนี้และสามารถตรวจจับวิเคราะห์สัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีลมพายุพัดอยู่           คณะได้สำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นเวลาห้าชั่วโมงในช่วงที่โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ ไครเรสมีความแม่นยำสูงมาก จึงสามารถวัดสเปกตรัมได้คมชัดจนวัดตำแหน่งของเส้นคาร์บอนมอนอกไซด์ด้วยความแม่นยำถึง 1 ใน 100,000 ความแม่นยำสูงนี้ทำให้นักดาราศาสตร์หาความเร็วของคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ด้วยหลักของดอปเพลอร์           นอกจากนี้ยังวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ในวงโคจรของทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ได้ด้วย ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนดาวฤกษ์เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 84 เมตรต่อวินาที            เอชดี 209458 บี เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่มีการศึกษามากที่สุดดวงหนึ่ง เหตุหนึ่งเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ในระบบผ่านหน้า (ระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์เมื่อมองจากโลก) ที่สว่างที่สุด ระบบนี้ดาวเคราะห์ผ่านหน้าทุกสามวันครึ่ง แต่ละครั้งกินเวลาประมาณสามชั่วโมง ระหว่างการผ่านหน้า แสงจากดาวฤกษ์บางส่วนจะส่องผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่ผ่านหน้า จึงมีร่องรอยการดูดกลืนแสงอยู่ในสเปกตรัมของแสงดาวที่วัดได้จากโลก ซึ่งนักดาราศาสตร์วัดและนำไปประมวลผลได้ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถสำรวจในลักษณะนี้ได้           เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่นักดาราศาสตร์สามารถวัดปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ ซึ่งพบว่า เอช 209458 บี เป็นดาวเคราะห์ที่อุดมไปด้วยคาร์บอนเช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ซึ่งอาจหมายความว่ามีต้นกำเนิดแบบเดียวกันด้วย           นักดาราศาสตร์ผู้สำรวจครั้งนี้หวังว่าหากปรับปรุงพัฒนาเทคนิคการสำรวจนี้ขึ้นไปอีก อาจดีพอที่จะนำไปใช้ในการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลกในระบบสุริยะอื่นได้ และรวมไปถึงการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่นด้วย ที่มา: Astronomers Watch Superstorm Raging on Distant Exoplanet – universetoday.com http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=44 -สมาคมดาราศาสตร์ไทย